ตัวอย่างการทดลองเกี่ยวกับฟีโรโมนในสัตว์และแมลง

การทดลองที่ 1
การทดลองในผีเสื้อไหม โดยการนำกลุ่มผีเสื้อไหมตัวเมีย เอาไว้ในครอบแก้ว แล้วนำไปวางไว้กลางกลุ่มผีเสื้อไหมตัวผู้ แต่ผีเสื้อไหมตัวผู้ไม่แสดงอาการสนใจในกลุ่มตัวเมียเลย ทั้งๆ ที่มองเห็นกันอยู่ แต่เมื่อเปิดครอบแก้วออกผีเสื้อไหมตัวผู้จึงหันมาสนใจตัวเมีย



การทดลองที่ 2
มีการทดลองเพิ่มเติม โดยการให้ผีเสื้อไหมตัวผู้อยู่เหนือทิศทางลม ที่ให้ลมพัดผ่านตลอดเวลา ปรากฏว่าผีเสื้อไหมตัวผู้ไม่มีปฏิกิริยาใดๆ แต่กลับกันเมื่อเอา ผีเสื้อไหมตัวเมีย ไว้เหนือลมบ้าง ปรากฏว่า ตัวผู้บินเข้าหาตัวเมีย ข้อมูลที่ได้จากการทดลองนี้ แสดงว่าผีเสื้อไหมตัวผู้ เคลื่อนที่เข้าหาตัวเมีย เนื่องจากกลิ่นของตัวเมียที่อยู่เหนือลมนั้นเอง หากไม่ได้กลิ่นของตัวเมีย ตัวผู้ก็จะไม่เข้าหาตัวเมีย



การทดลองที่ 3
จากการศึกษาต่อมาพบว่าสารเคมีที่ผีเสื้อไหมตัวเมียสร้างขึ้นมาเพื่อดึงดูดให้ตัวผู้สนใจนั้น สร้างที่ปล้องสุดท้ายของส่วนท้อง จึงมีการทดลองนำกระดาษกรองไปซับบริเวณปล้องสุดท้ายของท้องตัวเมียแล้วนำไปวางใกล้ๆ กลุ่มตัวผู้ ปรากฏว่าตัวผู้เข้าหากระดาษซับนั้น

การทดลองที่ 4
มีการทดลองต่อไปคือ นำผีเสื้อไหมตัวเมียไปวางท่ามกลางตัวผู้ปกติและตัวผู้ที่ตัดหนวดออกปรากฏว่า ตัวผู้ปกติเท่านั้นที่เข้าหาตัวเมียเพราะสามารถรับการสื่อสารด้วยฟีโรโมนจาก ตัวเมียได้

สรุปผลการทดลอง เมื่อทำการศึกษาเกี่ยวกับสารเคมีที่แมลงสร้างขึ้นมา เพื่อดึงดูดแมลงชนิดเดียวกันแต่เป็นเพศตรงข้ามกันได้ จึงเรียกสารนั้นว่า “ฟีโรโมน” ต่อมามีการศึกษาเรื่องฟีโรโมน ในสัตว์ชนิดอื่นๆ อีก นอกเหนือจากแมลงในปัจจุบัน ฟีโรโมนจึงหมายถึง สารเคมีที่สัตว์สร้างขึ้นมาแล้วมีผลต่อสัตว์ตัวอื่นที่เป็นสัตว์ชนิดเดียวกัน ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางสรีระและพฤติกรรมบางประการได้